
บ.วิเคราะห์ฟรอสต์ฯชี้ “โมบาย บรอดแบนด์” จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทั่วถึงมากกว่า “ฟิกซ์ บรอดแบนด์
นับตั้งแต่เหตุการณ์ล้มประมูล 3จี บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีทีไทยก็ยังอยู่ระดับค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่เห็นทีท่าว่าผู้ใช้บรอดแบนด์ไทยจะเดินไปถึงจุดหมายที่รัฐบาลปักธงว่าจะผลักดันให้เกิดการใช้บรอดแบนด์ได้ถึง 80% ของประชากรตามกำหนดเวลาอีกเพียง 3 ปีข้างหน้า (2558)
นายนิธิน บัท หุ้นส่วนและหัวหน้าคณะที่ปรึกษา บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก กล่าวว่า อัตราผู้ใช้งาน อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ในไทยยังจัดอยู่ระดับต่ำมาก โดยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 20 ล้านคนเมื่อปี 2554 เป็นสัดส่วนผู้ใช้บรอดแบนด์ไม่ถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราต่ำกว่า 10% จากหลักชัย 80% ในปี 2558 ของรัฐบาล
ขณะที่ความไม่ชัดเจนของนโยบายผู้กำกับดูแล และปัญหาสัมปทานที่ยังไม่ลงตัว ทำให้โอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการระบบก็ยังไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นได้วันไหนอย่างเต็มตัว
โทรคมจำต้องใช้แผน 2 “ทำไป-ขายไป”
นายนิธิน ยังเชื่อว่า ปี 2555 เป็นปีแห่งการลงทุนและขยายเครือข่ายของบรรดาผู้ให้บริการในไทย ซึ่งเป็นการใช้แผนสำรองช่วงที่การประมูล 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ เช่น การร่วมลงทุนเครือข่ายไวไฟ ระหว่างเอไอเอส และ 3บีบี หรือการจับมือระหว่างทรูกับ กสท เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่
อย่างไรก็ตาม แผน 2 ที่ผู้ให้บริการระบบทุกรายต่างเลือกที่จะทำคือ การอัพเกรดเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการใช้ “ดาต้า” ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในอนาคตของผู้ให้บริการทุกราย ส่วนแผนการตลาดใหม่ๆ ที่จะแข่งขันกันจริงจังคาดว่าจะเริ่มได้ปี 2556 หรือหลังจากที่เกิด 3จี บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ไปแล้ว
“การตลาดก็จะเป็นลักษณะของการทำไป ขายไป เพราะ 3จีที่ใช้กันตอนนี้เป็นการอัพเกรดบนโครงข่ายเดิม และยังไม่ใช่ 3จีระดับแอดวานซ์ที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ ทำให้คุณภาพก็ไม่ได้ดีที่สุดอย่างที่ 3จี ควรจะเป็น ซึ่งก็ต้องรอจนกว่า กสทช. หรือมีหน่วยงานรัฐที่เหมาะสมเข้ามาจัดการปัญหาคั่งค้างให้หมดไปโดยเร็ว”
อย่างไรก็ตามการลงทุนที่ยังต้องมีอยู่ และสถานะของประเทศที่กำลังพัฒนาในทุกๆ ด้านทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายด้านไอซีทีของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี หรือมีแนวโน้มเติบโตได้ 10-11% จากการอัพเกรดโครงข่าย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “โมบาย บรอดแบนด์” ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทั่วถึงมากกว่า “ฟิกซ์ บรอดแบนด์” หรืออินเทอร์เน็ตแบบเอดีเอสแอล
“เทคโนโลยีทั้ง 2 อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน หรือเป็นส่วนเสริมกัน ไม่มีใครแทนใคร เพราะเอดีเอสแอลแม้จะเสถียร แต่การลงทุนสูงทำให้เข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ ดังนั้นโมบาย บรอดแบนด์ จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดที่จะเข้ามาทำให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแพร่หลายได้เร็วขึ้น โดยตัวเลือกที่ไทยมีตอนนี้คือ 3จี เท่านั้น ส่วนแอลทีอี หรือ 4จี อาจยังเป็นเรื่องห่างไกลอีกหลายปีที่จะใช้งานได้สมบูรณ์”
สมาร์ทโฟน-แทบเล็ตหนุน โมบาย ดาต้า
นอกจากนี้ผู้บริหารฟรอสต์ยังคาดการณ์ว่า ปี 2555 จะเป็นปีที่เกิดกระแสการใช้โมบาย แพลตฟอร์มต่างๆ แพร่หลายมากขึ้นในไทย สะท้อนจากแนวโน้มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ตที่รวมกันแล้วจะมีมากกว่าจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือโน้ตบุ๊คในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความต้องการใช้โมบาย ดาต้า หรือโมบาย บรอดแบนด์มากขึ้นไปอีก
โดยจะมีผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 80% มีแนวโน้มจะใช้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้ และจะส่งผลต่อเนื่องที่จะทำให้ปริมาณการรับส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 18 เดือน โดยการใช้งานส่วนใหญ่จะมาจากการใช้โปรแกรมประเภทวีดิโอ สตรีมมิ่ง
นางสาวมนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน วิเคราะห์ว่า นอกจากผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ตที่มีแพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว ในปีนี้จะเริ่มเห็นธุรกิจหันมาใช้อุปกรณ์โมบายช่วยทำงานมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ยังรวมถึงการใช้ “โซเชียล เน็ตเวิร์ค” ที่พัฒนาขึ้นเฉพาะสำหรับองค์กร และการเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสารขององค์กรที่มีมาระยะหนึ่งแล้วอย่าง “ยูนิไฟด์ คอมมูนิเคชั่น (ยูซี)” ที่คาดว่าจะเติบโต 9% ในปีนี้ ขณะที่ระดับแอพพลิเคชั่นในยูซี เช่น ระบบประชุมทางไกล และโปรแกรมสื่อสารต่างๆ มีแนวโน้มจะเติบโตได้มากกว่า หรือเป็นตัวเลข 2 หลัก
“คลาวด์” มาแรง
โดยแนวโน้มดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องให้ปีนี้เกิดการลงทุน “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนของธุรกิจที่จะหันมาซื้อบริการมากกว่าซื้อทรัพย์สิน หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา
แต่ปีนี้จะเริ่มเห็นการลงทุนคลาวด์ คอมพิวติ้งในระดับ “แพลตฟอร์ม แอส อะ เซอร์วิส” เพิ่มมากขึ้น หรือเป็นการซื้อบริการที่เป็นชุดโซลูชั่น จากที่ผ่านมาตลาดไทยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนคลาวด์ คอมพิวติ้ง ระดับ “ซอฟต์แวร์ แอส อะ เซอร์วิส” หรือซื้อบริการคลาวด์เฉพาะซอฟต์แวร์เท่านั้น
“กลุ่มโทรคมเป็นธุรกิจที่เริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้นแล้วในตอนนี้ โดยผลกระทบจะเกิดจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน และหันไปจับธุรกิจใหม่ๆ เพื่อชดเชยรายได้จากบริการเสียงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง” นางสาวมนธ์สินีกล่าว
[ที่มา www.bangkokbiznews.com]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น